วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สมเด็จพระวันรัต ( นิรันดร์) วัดเทพศิรินทราวาส




ชาติภูมิ
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๘ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๗๗ ณ บ้านเลขที่ ๓๓๐ ค ซอยคูกำพล ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ท่านมีนามเดิมว่า นิรันตร์ โกณเขมะ เป็นบุตรของ อุบาสกสุ้นฮวด และ อุบาสิกากิมหลง (สกุลเดิม ไมตรี) โกณเขมะ ท่านมีน้องสาวคนเดียว คือ นางสาวขวัญจิตต์ โกณเขมะ
ครอบครัวของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ นั้นเป็นคหบดีผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ปรากฎหลักฐานว่าร่ำรวยมาจากทั้งสองฝ่าย ทั้งอุบาสกลุ้นฮวดและอุบาสิกากิมหลงล้วนเป็นผู้สืบทอดสกุลที่มีมรดกตกทอด เป็นทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก รวมทั้งที่ดินจำนวนหลายพันไร่ในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ที่ดินดังกล่าวแบ่งให้ชาวไร่ชาวนาเช่าประกอบสัมมาชีพได้ค่าเช่าเป็น ทรัพย์สินเงินทองบ้าง เป็นพืชพันธ์ธัญญาหารบ้าง อุบาสกสุ้นฮวด หรือโยมผู้ชายและอุบาสิกากิมหลง หรือโยมผู้หญิงของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ต่างเป็นที่รักใคร่นับถือของประชาชนในละแวกนั้น ด้วยเหตุที่ว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่เอื้อเฟื้อเก็บค่าเช่าด้วยความเมตตา หากปีไหนน้ำน้อยการกสิกรรมอัตคัตก็ผ่อนผันด้วยความกรุณา
โยมผู้ชายของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ มีนิสัยใฝ่ในทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เล็ก เมื่อหนุ่มได้บวชเป็นพระภิกษุถึง ๒ ครั้ง นับรวมได้ ๘ พรรษากับพระอาจารย์แจ้งที่วัดอ่างศิลา ได้ฉายานามว่า โกญฑัญโญ ที่พระอธิการแดงวัดใหญ่อินทารามตั้งให้ จึงมีที่มาจากฉายานามเมื่อครั้งบวช แปลความหมายว่า โกณฑัญโญผู้เกษม แต่ด้วยความจำเป็นต้องสืบทอดกิจการของแม่ จึงต้องถือความกตัญญูกตเวทีลาสิกขาออกมาครองเรือน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เคยทอดธุระทางศาสนายังคงยึดมั่นปฏิปทาเป็นอุบาสกแก้ผู้ อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วย ทาน ศีล ภาวนา ตลอดชีวิต ได้บริจาคทรัพย์สินมหาศาลทำนุบำรุงเป็นประโยชน์เกื้อกูลพระศาสนาอย่างเต็ม กำลัง เช่น สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างซุ้มพัทธสีมา รวมทั้งกุฎีและวิหารถวายให้กับวัดต่าง ๆ เช่นวัดเขาบางทราย วัดต้นสน วัดกำแพง วัดอ่างศิลา วัดเนินสุทธาวาส วัดราษฎร์บำรุง ฯลฯ แต่วัดที่ตั้งต้นเป็นทายกหลักคือวัดใหญ่อินทรารามเพราะบิดามารดาของอุบาสิกา กิมหลงฝากฝังวัดนี้เอาไว้ สร้างตึกเรียนให้แก่โรงเรียนอินทปัญญา ที่วัดใหญ่อินทราราม มีชื่อว่า ตึกโกณเขมะวิทยา
อีกทั้งยังได้ปฏิสังขรณ์พุทธโบราณสถานถาวรวัตถุที่ชำรุดทรุดโทรม เช่นปฏิสังขรณ์อุโบสถวัดใหญ่อินทารามครั้งที่ ๒
นอกจากนี้ยังเป็นโยมอุปัฏฐากพระสงฆ์หลายรูป ทุกวันที่บ้านทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวนกว่าร้อยองค์ด้วยข้าวปลาอาหารคาวหวาน มากมายถึงขนาดที่เรียกว่า หุงข้าวเป็นกระสอบ ทำกับข้าวเป็นหม้อใหญ่ ๆ มิได้ขาด จนเป็นที่เลื่องลือของชาวเมืองชลว่าบ้านนี้ทำบุญหนัก และรู้กันในหมู่สงฆ์ว่าหากวันไหนพระสงฆ์รูปใดในเมืองชลบิณฑบาตไม่ได้ ให้ไปที่บ้านโยมฮวดแล้วจะไม่ผิดหวัง เป็นผู้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนบ้านใกล้เรือนเคียง เมื่อมีใครมาขอความช่วยเหลือหากไม่เป็นเรื่องเกินวิสัยก็จะสงเคราะห์ให้ด้วย ความเต็มใจ เป็นอุบาสกผู้ซื่อสัตย์ต่อศีลและธรรมที่ได้สมาทานแล้ว ดังที่พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรฯ หนึ่งในบรรดาพระสงฆ์ที่โยมผู้ชายเคยอุปการะกล่าวชมในงานศพว่า ตั้งแต่รู้จักพ่อฮวดไม่เคยได้ยินพ่อฮวดพูดจาว่าร้ายใครทั้งต่อหน้าและลับ หลัง ด้านการภาวนาก็หมั่นอบรมจิตใจด้วยการสวดมนต์นั่งสมาธิเป็นนิจศีล เมื่อยามแข็งแรงก็ไปปฏิบัติที่อุโบสถวัดใหญ่ เมื่อเข้าวัยชราก็หมั่นรักษาจิต
อยู่ที่บ้านจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ขนาดขยับกายด้วยตัวเองไม่ได้แล้วก็ยังเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะมั่นคง คือระลึกได้และรู้ตัว ถามลูกสาวและญาติที่คอยดูแลว่าพระที่มาบิณฑบาตที่บ้านกลับไปหมดแล้วหรือยัง เมื่อทราบว่าพระกลับไปหมดแล้วก็ให้ลูกสาวและญาติพยุงกายให้ลุกขึ้นนั่งขัด สมาธิ แล้วกำหนดใจสิ้นลมไปในอิริยาบถนั้นเอง บุพการีผู้อุดหนุนและยังเป็นผู้กตัญญูกตเวทีรู้คุณและสนองคุณพระศาสนาเช่น นี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นบุคคลหาได้ยาก จึงนับโยมผู้ชายของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้คู่ควรการสรรเสริญ ดังนี้
นิมิตของโยมผู้หญิงท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ใน ปีที่เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ จะเกิดนั้น โยมผู้หญิงฝันเห็นราหูอมจันทร์ลอยมาอยู่เหนือยุ้งข้าวที่บ้าน ในฝันเห็นแม่ศาลาหมอตำแยมีชื่อในย่านนั้น ตะโกนบอกว่า “ นั่นแหละของเอ็งไปเอามาซิ ” ต่อมาไม่นานอุบาสิกากิมหลงก็ตั้งครรภ์และคลอดเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ที่ห้องข้างยุ้งข้าวโดยมีแม่ศาลาเป็นผู้ทำคลอด ถึงเรื่องนี้จะเป็นเพียงความฝัน แต่โบราณก็ถือกันว่าเป็นมงคลนิมิตสำคัญประการหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ท่านตีความภาพราหูอมจันทร์ที่ว่าตรงกับภยตูปัฎฐานญาณ คือ ญาณที่ปรากฏให้เห็นว่าสังสารวัฎเป็นภัยเหมือนราหูอมจันทร์ ท่านจึงถือนิมิตนี้เป็นเครื่องเตือนสติให้เห็นโทษภัยของสังสารการเวียนว่าย ตายเกิด เหมือนพระจันทร์ที่พยามดิ้นรนให้หลุดพ้นโทษภัยพันธนาการของราหู ท่านใช้นัยนิมิตนี้ในการดำเนินชีวิตตลอดชนม์ชีพ
ลักษณะของผู้มีบุญมาเกิด เจ้า ประคุณสมเด็จฯ เมื่อเกิดมามีลักษณะหนึ่งของผู้มีบุญติดมาด้วย คือ มงกุฎครอบเศียรภาษาชาวบ้านเรียกว่ารกติดหัว คือรกมาคุมอยู่ที่ศีรษะลักษณะคล้ายหมวกแบน ๆ คนโบราณที่มีความรู้นับถือกันมากกว่าเป็นของสูงเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญ หนักศักดิ์ใหญ่หาได้ยาก ต้องตัดเก็บไว้ทำขวัญและบูชา ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ก็มีคุณลักษณะต้องตามความเชื่อนั้นทุกประการดังจะได้พรรณนาต่อไปแต่แรกเกิด เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ไม่ค่อยแข็งแรงประกอบกับโยมผู้หญิงก็เป็นไข้อยู่ไฟไม่ได้ (สมัยก่อนเมื่อหลังคลอดลูกจะนิยมให้ผู้หญิงอยู่ไฟโดยการให้นอนกระดานฟืนแผ่น เดียว ผู้หญิงแพ้การอยู่ไฟจะมีไข้ขึ้นสูง ตามเนื้อตัวจะมีลูกไฟเป็นเม็ดใส ๆ คล้ายโดยน้ำร้อนลวกขึ้น ) ทำให้ไม่สามารถให้น้ำนมลูกได้ อาการของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ยิ่งกระเสาะกระแสะจนผู้ใหญ่ที่บ้านกลัวว่าจะเลี้ยงไม่รอดโยมผู้ชายจึงไปขอพร กับหลวงพ่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทวดาอารักษ์ว่าหากลูกชายรอดชีวิตจะเลี้ยงให้ เป็นพระพิมลธรรม (ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ) แต่อาการของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ก็ยังไม่ดีขึ้น โยมผู้ชายจึงต้องขอพรซ้ำ คราวนี้ตั้งจิตอธิฐานว่าหากลูกรอดชีวิต จะเลี้ยงลูกชายคนนี้ให้เป็นพระพนรัตน์ ด้วยแรงอธิษฐานและบุญอันได้ทำแล้วในกาลก่อน อาการของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ก็ค่อน ๆ ดีขึ้นกลับมาอ้วนท้วนแข็งแรงสมบูรณ์ โยมผู้ชาย หาแม่นมมาให้ได้ถึง ๓ คน คือแม่แช่ม แม่เจียน แม่อิน เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ปรารภระลึกคุณเสมอว่ารอดตายได้เพราะกินนมเขามา (การที่โยมผู้ชายของท่านกล่าวคำอธิษฐานเช่นนั้น ฟังดูอาจจะรู้สึกแปร่งหูไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็อาจจะเป็นด้วยเทพยดาเข้าดลใจก็ได้เพราะกาลภายหลังต่อมาก็เป็นเครื่อง พิสูจน์ได้อย่างดี)
ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เมื่อแรกเกิด ที่บ้านของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ มักมีตะขาบตัวเขื่อง ๆ เลื้อยเข้ามา บางคืนก็มาพันตัวอยู่ที่หูมุ้ง บางคืนก็เข้าไปในมุ้งที่เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ นอนอยู่ แต่ตะขาบเหล่านั้นก็ไม่เคยทำอันตรายเจ้าประคุณสมเด็จเลย โยมผู้ชายเชื่อว่าตะขาบเหล่านั้นมาคอยดูแลเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ จึงไม่เคยทำร้ายตะขาบเหล่านั้น เมื่อพบก็เพียงแต่จับแล้วนำไปปล่อย เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ มาบวชแล้วตะขาบเหล่านั้นก็ค่อย ๆ หายไป
เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ มีชีวิตรอดมาได้ราวปฏิหาริย์ โยมผู้ชายก็นำวันเดือนปีเกิดไปให้อาจารย์แจ้งช่วยทำนาย อาจารย์แจ้งเป็นพระอุปัชฌาย์ของโยมผู้ชายมีชื่อเสียงคุณวิเศษในด้านวิปัสสนา กรรมฐาน ปรากฎว่าเกิดมังกรสีเหลืองตัวใหญ่ในนิมิตของอาจารย์แจ้งทำนายว่าต่อไปลูกชาย จะได้เป็นจองหงวนผู้ทรงความรู้ เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ จึงมีชื่อภาษาจีนตามที่โยมผู้ชายตั้งให้ว่า ฮกเล้ง แปลว่า มังกรแห่งโชคลาภ ต่อมา เมื่อตามเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( เจริญญาณวรมหาเถร ) มาอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้เมตตาตั้งชื่อใหม่ให้ว่า นิรันตร์ แปลความหมายว่า ไม่มีระหว่างว่างเว้น ดวงชาตาของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ดาวที่บ่งว่าเป็นผู้ทรงความรู้ ตามที่โบราณโหราจารย์นับถือกันก็คือตำแหน่ง ดาว ๕ พฤหัส และดาว ๖ ศุกร์อยู่ในราศีเดียวกันคือราศีมีนว่ากันว่าเป็นดวงวิชาสู้ครูด้วยเหตุที่ ว่าพระพฤหัสเป็นอาจารย์ของเทวดาส่วนพระศุกร์เป็นอาจารย์ของอสูรส่งผลให้ เจ้าชาตามีความรู้แกร่งกล้าและมักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเป็นใหญ่ บ้างเรียกดวงประเภทนี้ตามภาษาจีนว่า น่อซินแซสองอาจารย์ ความรู้ที่เจ้าชาตามีจึงเป็นความรู้ที่เรียกว่ารู้ในสิ่งที่คนอื่นไม่รู้ แต่ถึงอย่างไรเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ก็ปรารภเสมอว่า ศิษย์เก่งกว่าครูได้แต่อย่างหมิ่นครู
............................................................................